พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์
พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ | |||||
---|---|---|---|---|---|
พระเจ้าวรวงศ์เธอ ชั้น 5 พระองค์เจ้าชั้นโท | |||||
ประสูติ | 28 มีนาคม พ.ศ. 2451 วังปารุสกวัน จังหวัดพระนคร มณฑลกรุงเทพ ประเทศสยาม (ปัจจุบัน กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย) | ||||
สิ้นพระชนม์ | 30 ธันวาคม พ.ศ. 2506 (55 ปี) พระตำหนักเทรเดซี คอร์นวอลล์ ประเทศอังกฤษ สหราชอาณาจักร | ||||
ฌาปนกิจ | 2 มกราคม พ.ศ. 2507 ฌาปนสถานเพนเมาต์ | ||||
หม่อม | เอลิซาเบธ ฮันเตอร์ (สมรส 2481) | ||||
| |||||
พระบุตร | หม่อมราชวงศ์นริศรา จักรพงษ์ | ||||
ราชสกุล | จักรพงษ์ | ||||
ราชวงศ์ | จักรี | ||||
พระบิดา | สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ | ||||
พระมารดา | หม่อมคัทริน ณ พิศณุโลก | ||||
ศาสนา | พุทธ | ||||
อาชีพ | |||||
ยศที่ได้รับการแต่งตั้ง | |||||
รับใช้ | ไทย บริเตนใหญ่ | ||||
แผนก/ | กองทัพบกไทย กองทัพบกสหราชอาณาจักร | ||||
ชั้นยศ | พลตรี ร้อยโท | ||||
พลตรี พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ มีพระนามลำลองว่า พระองค์ชายจุล (28 มีนาคม พ.ศ. 2451 – 30 ธันวาคม พ.ศ. 2506)[1] เป็นพระโอรสพระองค์เดียวในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ กับหม่อมคัทริน ณ พิศณุโลก เสกสมรสกับหม่อมเอลิสะเบธ จักรพงษ์ ณ อยุธยา เมื่อวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2481 มีพระธิดาคนเดียว คือ หม่อมราชวงศ์นริศรา จักรพงษ์
พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ ทรงเข้าศึกษาที่โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า จนพระชันษาครบ 13 ปี ได้เสด็จไปทรงศึกษาที่ โรงเรียนแฮร์โรว์ ประเทศอังกฤษ เมื่อ พ.ศ. 2466 – 2470 จากนั้นทรงศึกษาระดับอุดมศึกษา ที่วิทยาลัยตรินิตี้ มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ด้านประวัติศาสตร์ ทรงได้รับปริญญาตรี (ศศ.บ. เกียรตินิยม) เมื่อปี พ.ศ. 2473 และปริญญาโท (ศศ.ม. เกียรตินิยม)
พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ ทรงสนพระทัยในงานประพันธ์และประวัติศาสตร์ ทรงพระนิพนธ์หนังสือไว้ 13 เล่ม โดยเล่มที่สำคัญคือ เกิดวังปารุสก์, เจ้าชีวิต, ดาราทอง, ไทยชนะ
พระประวัติ
[แก้]ประสูติ
[แก้]พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ เป็นพระโอรสพระองค์เดียวในสมเด็จพระเชษฐาธิราช เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ กับหม่อมคัทริน ณ พิศณุโลก (สกุลเดิม เดสนิตสกายา) พระชายาชาวรัสเซีย ประสูติเมื่อวันเสาร์ที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2451 เมื่อเวลา 23.58 น. ที่ห้องแดง ภายในวังปารุสกวัน ถือเป็นบุคคลเดียวที่ถือกำเนิดบนตำหนักวังปารุสกวัน[2] เมื่อรู้ข่าวว่าพระราชนัดดาประสูติ สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่แต่เดิมเคยกริ้วในพระราชโอรสมาก่อน ก็ทรงตื่นเต้นและหายกริ้ว รีบเสด็จมาทอดพระเนตร เอาพระทัยใส่การจัดห้องหับ การดูแลเรื่องต่าง ๆ มีพิธีการทำขวัญเดือนตามธรรมเนียมโบราณ
เมื่อแรกประสูติทรงมีฐานันดรศักดิ์เป็นหม่อมเจ้า สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง พระราชทานพระนามว่า "หม่อมเจ้าพงษ์จักร"[3] ต่อมาพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระนามใหม่ว่า "จุลจักรพงษ์" โดยเป็นการเอาอย่างพระนามของทูลหม่อมปู่ คือ จุลจอมเกล้า ทั้งยังเป็นการล้อพระนามพระบิดา คือ เล็ก ไปในขณะเดียวกัน[4] มีพระนามเรียกกันในหมู่พระญาติว่า ท่านหนู
ขณะทรงพระเยาว์
[แก้]เจ้าฟ้าจักรพงษ์ฯ ทูลขอหม่อมหลวงชม นรินทรกุล ผู้ซึ่งเป็นข้าหลวงอยู่ในวังสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง มาตั้งแต่อายุ 11 ปี รับใช้พระโอรสธิดาทุกพระองค์ มาเป็นพี่เลี้ยงให้พระโอรส ด้วยความเห่อพระนัดดา จึงยอมให้มาเป็นพี่เลี้ยงพระโอรสที่วังปารุสก์ ในวัยเยาว์จนถึงอายุ 3 ขวบ โอรสองค์น้อยมีสุขภาพอ่อนแอ ซึ่งขณะที่อายุ 2 ขวบป่วยเป็นโรคบิดอย่างรุนแรง แต่รอดพ้นมาได้
พระองค์นี้ได้นำความปลาบปลื้มปีติยินดีให้กับสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงยิ่งนัก อันเนื่องมาแต่ ทรงพระเมตตาที่มิได้ทรงได้รับพระอิสริยยศเป็นพระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าดังที่ควรจะเป็น จึงใคร่จะพระราชทาน ข้าวของเครื่องใช้ต่าง ๆ ก็ทรงจัดพระราชทานให้เป็นพิเศษเทียบเท่ากับสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอแทบทุกประการ ด้วยทรงห่วงใยที่หม่อมคัทรินที่มีเชื้อชาติยุโรป จะไม่สามารถอบรมฝึกฝนจริตมารยาทของพระโอรส ให้เข้ากับระเบียบแบบแผนเจ้านายตามพระราชประเพณีไทยได้ดี[5] หากยังได้ดูแลใกล้ชิดขนาดบรรทมร่วมบนพระที่ด้วย
ถึงแม้ว่าทูลกระหม่อมปู่ (รัชกาลที่ 5) แม้จะไม่ทรงรับพระนัดดาองค์ใหม่เป็นหลานอย่างเปิดเผย แต่ในที่สุดก็ได้โปรดให้พระนัดดาเข้าเฝ้าในปี พ.ศ. 2453 ที่พระราชวังพญาไท เมื่อพระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์อายุครบ 2 ขวบ พระองค์ก็ทรงเล่าให้สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ถึงพระนัดดาไว้ว่า "วันนี้ฉันได้พบกับหลานชายของเธอ ดูน่ารักน่าเอ็นดูเหมือนพ่อ ฉันรู้สึกรักและหลงใหลคนนี้ตั้งแต่แรกเห็น เพราะถึงอย่างไรนี่ก็เป็นสายเลือดเชื้อไขของฉันเอง" และรับสั่งต่อด้วยถ้อยคำที่แฝงความรู้สึกโล่งพระทัยว่า "และไม่มีเค้าว่า มีเชื้อสายฝรั่งติดมาด้วยเลย"[6] ภายหลังรัชกาลที่ 5 ได้สวรรคตในปี 2453 ได้ค้นพบหลักฐานจากการบันทึกของหม่อมเจ้าทิพย์รัตน์ประภา เทวกุล ที่ท่านหญิงเคยรับใช้ฉลองพระเดชพระคุณสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงในพระบรมมหาราชวัง ทรงมีรับสั่งกับท่านหญิงว่า "สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงกำลังโปรดตาหนู เสียดายที่มาด่วนสวรรคตไปเร็ว"[7] ส่วนรัชกาลที่ 6 ทรงพระเมตตารักท่านหนู ถ้าจะใคร่สันนิษฐาน โปรดเพียงใดจะเห็นได้ในประกาศเมื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาพระยศขึ้นเป็นพระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์[8] เมื่อปี พ.ศ. 2463[9]
การศึกษา
[แก้]ประมาณ พ.ศ. 2458 สมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ องค์เสนาธิการทหารบกในขณะนั้น ได้ทรงมอบหมายให้พระสารสาสน์พลขันธ์ เป็นผู้สอนหนังสือในฐานะเป็นครูคนแรกแก่พระโอรสวัย 7 ขวบ ที่วังปารุสกวัน โดยเดิมทีสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง มีพระประสงค์ให้พระนัดดาเข้าโรงเรียนราชินี แต่พระองค์จุลฯ ไม่ทรงยินยอม[10] ต่อมาจากนั้นอีก 2 ปี คือ ใน พ.ศ. 2460 พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ก็ได้เสด็จเข้าศึกษาในโรงเรียนนายร้อยชั้นประถม[11] ที่ถนนราชดำเนินนอก ตามกฎของโรงเรียนนายร้อยประถม นักเรียนทุกคนต้องเข้าเป็นนักเรียนกินนอน แต่เนื่องจากหม่อมแม่เห็นว่า ยังเด็กเกินไป เจ้าฟ้าจักรพงษ์ฯ ก็ทรงอนุโลม[12] ใช้เวลาเรียนที่โรงเรียนนายร้อยประถมอยู่ 4 ปี จนจบ แต่หลังจากนั้นไม่นานพระองค์ก็พลัดพรากจากพระมารดาที่ไม่ได้เอ่ยคำร่ำลากันหลังจากการหย่าร้าง ต่อมาอีก 2-3 เดือน สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง สมเด็จย่าก็มาสวรรคต ตามด้วยการทิวงคตของพระบิดาในอีก 8 เดือนต่อมา[13]
หลังจากที่พระบิดาทิวงคต พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทูลกระหม่อมลุง ทรงวางแผนการศึกษาให้พระนัดดาได้ศึกษาต่อที่ประเทศอังกฤษ เมื่อพระชันษาครบ 13 ปี โดยต้องการให้พระองค์จุลฯ รู้จักปกครองดูแลตนเอง โดยออกมาเรียนตามลำพังและอนุญาตให้แม่มาเยี่ยมพระโอรสได้เป็นครั้งคราวเมื่อหยุดเรียน โดยก่อนที่เสด็จไปเมืองนอก ทูลกระหม่อมลุงและอาเอียดน้อย (ร.7) ได้ทรงตกลงจะให้พระองค์จุลฯ ปฏิญาณตนเป็นพุทธมามกะ พระองค์จุลฯ ออกเดินทางศึกษาต่อที่ประเทศอังกฤษ โดยเดินทางด้ายรถไฟไปถึงปาดังเบซาร์ ข้ามแดนไปท่าเรือตรงเกาะปีนัง ข้ามเขตสยามเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2463[14] แล้วจึงเสด็จโดยเรือ
เมื่อถึงประเทศอังกฤษ ทรงได้รับการควบคุมอย่างเข้มงวดจากครอบครัวของพระยาบุรีนวราษฐ์ (ชวน สิงหเสนี) อัครราชทูตไทยประจำประเทศอังกฤษ โดยในระยะแรกทรงอยู่กับครูที่เมืองไบรตัน ห่างจากกรุงลอนดอน 86 กิโลเมตร เพื่อซึมซับภาษาอังกฤษโดยไม่ได้พบปะคนไทยเลยเป็นเวลา 6 เดือน[15] ต่อมาพระองค์จุลฯ ทรงสามารถสอบเข้าศึกษาต่อได้ที่โรงเรียนแฮร์โรว์เมื่อ พ.ศ. 2466 ถึงปี พ.ศ. 2470 จนเข้าศึกษาระดับอุดมศึกษา ที่วิทยาลัยตรินิตี้ มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ด้านประวัติศาสตร์ ทรงได้รับปริญญาตรี (B.A. เกียรตินิยม) เมื่อปี พ.ศ. 2473 และ ปริญญาโท (M.A. เกียรตินิยม) เมื่อปี พ.ศ. 2477 เมื่อครั้นยังเรียนอยู่ที่อังกฤษ ทรงได้รับเลือกเป็นสภานายกสามัคคีสมาคม[16]จากนั้นทรงรับราชการเป็นนายทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ ปฏิบัติหน้าที่ ณ สถานเอกอัครราชทูตไทย กรุงลอนดอน
พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสละราชสมบัติ
[แก้]ในการลาออกจากราชสมบัติของรัชกาลที่ 7 มีหนังสือเรื่อง แถลงการณ์เรื่องพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสละราชสมบัติ มีเรื่องที่กล่าวถึงพระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ ซึ่งเป็นเจ้านายพระองค์หนึ่งที่มีโอกาสจะได้เป็น (Candidate) พระมหากษัตริย์ต่อจากรัชกาลที่ 7 คือมีคนไปสัมภาษณ์ท่านว่าท่านมีความเห็นเช่นไรเกี่ยวกับเรื่องนี้ โดยพระองค์ตอบกลับว่า "จะไม่มีใครมาเชิญฉันหรอก และถึงจะมีคนมาเชิญจริง ๆ ฉันก็ยินดีรับไม่ได้เพราะได้ถูกตัดออกอย่างเด็ดขาดมานานแล้ว ถ้าจะรบเร้ากันจริง ๆ ซึ่งก็ไม่เชื่อว่า จะมีใครมารบเร้า ฉันต้องยืนยันให้มีประชามติ (plebiscite) กันเสียก่อน" [17] ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความเข้าใจในหลักประชาธิปไตยเป็นอย่างดีของท่าน และด้วยเหตุที่ว่า จากราชกิจจานุเบกษา ตอนพิเศษของเล่มที่ 41 มีกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ ออกเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2467 เกี่ยวกับลำดับชั้นเชื้อพระบรมวงศ์ ซึ่งจะควรสืบราชสันตติวงศ์ได้นั้น แต่ในหมวดที่ 5 ว่าด้วยผู้ที่ต้องยกเว้นจากการสืบราชสันตติวงศ์ มาตรา 11
"มาตรา 11 เจ้านายผู้เป็นเชื้อพระบรมราชวงศ์ ถ้าแม้ว่า เป็นผู้มีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งกล่าวไว้ข้างล่างนี้ไซร้ ท่านว่า ให้ยกเว้นเสียจากลำดับสืบราชสันตติวงศ์ ลักษณะที่กล่าวนี้คือ... (๔) มีพระชายาเป็นนางต่างด้าว กล่าวคือ นางที่มีสัญชาติเดิมเป็นชาวประเทศอื่น นอกจากชาวไทยโดยแท้" ผนวกกับ "มาตรา 12 ท่านพระองค์ใด ตกอยู่ในเกณฑ์มีลักษณะบกพร่องดังกล่าวมาแล้วในมาตรา 11 แห่ง กฎมณเฑียรบาลนี้ไซร้ ท่านว่า "พระโอรสอีกทั้งบรรดาเชื้อสายโดยตรงของท่านพระองค์นั้น ก็ให้ยกเสียจากลำดับสืบราชสันตติวงศ์ด้วยทั้งสิ้น" ซึ่งได้แก่ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์เองและลูกหลาน แต่ทั้งนี้พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์อธิบายไว้ใน เกิดวังปารุสก์ ว่า "ข้าพเจ้ามิได้เคยนึกว่า ตนถูกตัดจากสิทธิอะไรเลย ข้าพเจ้าไม่เคยนึกและบัดนี้ก็มิได้นึกว่า ข้าพเจ้ามีสิทธิอย่างใดเกินกว่าที่คนไทยทุก ๆ คนย่อมมีอยู่ตามกฎหมาย"[18]
ผู้จัดการคอกหนูขาว
[แก้]ภายหลังจากที่การปฏิวัติในประเทศไทยและการสิ้นชีพิตักษัยของหม่อมเจ้าหญิงชวลิตโอภาส ทำให้การควบคุมดูแลกองมรดกทรัพย์สินของเจ้าฟ้าจักรพงษ์ฯ ตกเป็นของพระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ ทรงเป็นเจ้าของกองมรดกทั้งหมดแต่เพียงพระองค์เดียว และรายได้ประจำปีจากกองมรดกที่ทรงได้รับก็เพิ่มจากเดิมปีละ 1,000 ปอนด์ มาเป็นปีละ 20,000 ปอนด์
หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เจ้านายทุกพระองค์ต้องเข้ารับราชการ โดยที่พระองค์ตัดสินพระทัยมานานแล้วว่าไม่เหมาะในการรับราชการทหาร จึงทรงเลือกที่จะเป็นนักประพันธ์อิสระแทน ซึ่งอันที่จริงผลงานพระนิพนธ์ของพระองค์ก็เป็นที่รู้จักในหมู่นักอ่านคนไทยอยู่แล้ว ทั้งการวิจารณ์หนังสือและบทพระนิพนธ์ความเรียงสั้น ๆ ทางด้านการเมือง บทพระนิพนธ์เชิงอัตชีวประวัติของพระเจ้าเฟรเดอริคมหาราช
พระองค์จุลฯ ทรงประทับที่เดียวกับพระองค์เจ้าอาภัสสรวงศ์ พระโอรสในสมเด็จวังบูรพาฯ โดยพระองค์เจ้าอาภัสสรวงศ์แนะนำให้พระองค์จุลฯ รู้จักกับพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพีรพงศ์ภาณุเดช และทำให้เกิดความสนิทสนมคุ้นเคยและต้องชะตากัน และด้วยความที่พระองค์จุลฯ กำพร้าจึงทรงรู้สึกเหมือนตนเป็นพี่ชายของพระองค์พีระฯ[19] ในขณะช่วงหยุดเรียน ฤดูร้อนปี 2474 พระองค์พีระฯ พระองค์จุล และพระองค์อาภัสฯ พักด้วยกันที่เมืองเบียริทซ์กับ มารดาและสามีใหม่ของมารดาพระองค์จุลฯ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่สนุกสนาน พระองค์อาภัสฯ สอนพระองค์พีระฯ หัดขับรถ ก็ได้ฉายแววพรสวรรค์ทางด้านนี้ ทรงเรียนรู้การขับรู้ได้เร็วและโปรดการขับรถอย่างยิ่ง และภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ภาวะการเงินของสำนักงานพระคลังข้างที่ อยู่ในฐานะลำบาก พระองค์จุลฯ จึงรับอุปการะพระองค์พีระฯ อย่างเต็มตัว พระองค์ทรงออกกำลังทรัพย์ในการแข่งขันรถ พระองค์จุลฯ ซื้อรถ อี.อาร์.เอ ประทานให้เป็นของขวัญวันเกิดพระองค์พีระฯ โดยได้ประลองแข่งขันความเร็วครั้งแรกที่ดิเอปป์ ประเทศฝรั่งเศส เข้าเส้นชัยเป็นคนที่ 2 นับเป็นผลงานเกินความคาดหมาย และหลังจากนั้นก็ได้รับชัยชนะครั้งแรกที่โมนาโค พระองค์พีระฯ ได้ครองรางวัลดาราทอง สร้างความปลาบปลื้มให้กับชาวไทย หนังสือพิมพ์ในกรุงเทพฯ พากันพาดหัวหน้าหนึ่งกันเอิกเกริก[20] หลังจากจบฤดูแข่งขันรถในปี พ.ศ. 2480 พระองค์พีระฯ ได้ครอบรางวัลดาราทองอีกเป็นปีที่ 2 พระองค์จุลฯ พระองค์พีระฯ และนายพุ่ม สาคร พระสหายของเจ้าฟ้าฯ จักรพงษ์ฯ กลับประเทศไทย ได้รับการต้อนรับจากคนไทยอย่างล้นหลาม ในฐานะวีรบุรุษที่นำชื่อเสียงเกียรติภูมิของประเทศไทยแพร่ขจายไปสู่โลกกว้าง[21]
ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2478 ที่เริ่มเข้าการแข่งขันรถแข่ง จนถึงปี 2482 เป็นเวลา 5 ปี ที่ พ. พีระ เข้าแข่งขันความเร็วทั้งหมด 68 ครั้ง ชนะเลิศ 20 ครั้ง ได้ที่สอง 14 ครั้ง และที่สาม 5 ครั้ง และยังเข้าการแข่งขันระดับนานาชาติอีกหลายครั้ง ถือเป็นคนเอเชียคนเดียวที่เข้าทีมต่างประเทศซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการเป็นนักแข่งรถอาชีพ โดยพระองค์จุลฯ ทรงทำหน้าที่เป็นผู้จัดการคอกหนูขาวนี้นานเกือบ 8 ปี[22] โดยเป็นผู้ออกทุนทรัพย์และอำนวยการในระหว่างการแข่ง ด้วยความที่พระองค์จุลฯ มีนามเล่นว่า "หนู" พระองค์พีระฯ จึงเขียนรูปหนูสีขาวไว้ที่รถ ตั้งแต่นั้น จึงเรียกคณะแข่งรถนี้ว่า "คอกหนูขาว" (White Mouse) ทาสีฟ้าสดใสมีรถแข่งขันที่ชื่อ รอมิวลุส (Romulus) รีมุส (Remus) และ หนุมาน (Hanuman) สีฟ้าแบบนี้ ปัจจุบันเรียกว่า ฟ้าพีระ (Bira blue)
ชีวิตในคอร์นวอลล์
[แก้]หลังจากที่พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์สมรสกับลิสบา โดยจดทะเบียนสมรสที่สำนักทะเบียนและต่อมาที่สถานทูตไทย โดยมีสักขีพยานในการสมรส เพียงญาติใกล้ชิดครอบครัวและเพื่อนสนิทไม่กี่คน หลังจากนั้นเดินทางไปดื่มน้ำผึ้งพระจันทร์ที่ทางเขตตะวันตกของอังกฤษไม่กี่วันก็กลับมาอยู่ที่ห้องชุดที่ลอนดอน จากนั้นเดินทางกลับประเทศไทยพร้อมกับพระองค์เจ้าอาภัสสรวงศ์ พระองค์เจ้าพีระฯ และซีริล และเมื่อเดินทางกลับมายังอังกฤษในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2482 จากนั้นไม่นานก็เกิดสงครามโลกครั้งที่สอง โดยที่เมืองไทยประกาศวางตัวเป็นกลางในสงครามครั้งนี้ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์จึงทรงตั้งพระทัยที่จะเสด็จกลับ แต่ก็เป็นการยากที่จะเดินทางทางเรือในในยามสงคราม ในที่สุดพระองค์ก็ตัดสินใจที่จะประทับอยู่ที่อังกฤษต่อไป
แต่เหตุการณ์ไม่คาดฝันเกิดขึ้นและทำให้พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์รู้สึกเศร้าพระทัย เมื่อญี่ปุ่นยกพลเข้ารุกรานประเทศไทยในตอนปลาย พ.ศ. 2484 รัฐบาลไทยต้องยอมจำนนต่อคำขาดของญี่ปุ่น ซ้ำร้ายรัฐบาลไทยตัดสินใจประกาศสงครามต่ออังกฤษและสหรัฐอเมริกา พระองค์จึงตัดสินพระทัยหลบออกจากลอนดอนไปใช้ชีวิตอย่างสงบ อยู่อย่างเงียบ ๆ ในชนบทที่ไกลจากเมืองหลวง โดยเดินทางไปที่เมืองคอร์นวอลล์ ที่บ้านลีแนมฟาร์ม[23]
พระองค์ทรงขยันขันแข็งในการทรงงาน ทรงแบ่งเวลาในแต่ละวันในงานพระนิพนธ์ ไม่เพียงทรงนิพนธ์งานทางประวัติศาสตร์เป็นภาษาไทยเท่านั้น ยังทรงพระนิพนธ์เรื่อง Brought Up in England เป็นภาษาอังกฤษ และหนังสือเกี่ยวกับการแข่งรถอีกหลายเล่ม เมื่อทรงงานเสร็จพระองค์ก็จะทรงแสวงหาความสำราญ ไม่เพียงกับบริวารที่แวดล้อมเท่านั้น ยังทรงเชิญแขกพักที่บ้านหรือร่วมรับประทานอาหารค่ำ
ตั้งแต่ที่ญี่ปุ่นเข้ายึดครองเมืองไทยและรัฐบาลไทยประกาศสงครามต่ออังกฤษและสหรัฐอเมริกานั้น ทั้งพระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์และพระองค์เจ้าพีระฯ ก็กลายสถานะมาเป็น "พลเมืองของชนชาติศัตรู" ในอังกฤษโดยปริยาย[24] พระองค์จึงเริ่มแสวงหาหนทางที่พระองค์จะสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการต่อสู้เพื่อปกป้องประเทศอังกฤษ อันเป็นประเทศที่ให้ที่พักพิงอาศัย โดยตัดสินพระทัยสมัครเข้าพลทหารในหน่วยอาสารักษาดินแดน ใบสมัครครั้งแรกถูกปฏิเสธ จึงทรงยื่นใหม่และได้รับอนุมัติหน่วนอาสารักษาดินแดนเป็นหน่วยสนับสนุนการรบใน พ.ศ. 2483 มีกำลังพลรวม 1 ล้านคน เป็นหน่วยที่ตั้งขึ้นเพื่ออาศัยประโยชน์จากประสบการณ์ทางการรบของทหารผ่านศึกครั้งสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง และรวมถึงเป็นหน่วยรองรับกำลังพลสำรองที่เป็นคนหนุ่มที่มีอาชีพอยู่แล้ว
ทั้งสองพระองค์ต้องเข้ารับการฝึกในหมวดทหารอาสาของตำบลร็อก (Rock Olatoon) เข้าเวรยามในตอนกลางคืนและลาดตระเวณตามบริเวณชายฝั่ง จากนั้นในปี พ.ศ. 2484 พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ทรงย้ายไปสังกัดกองกำลังยุวชนทหารบก ทรงได้รับยศเป็นนายร้อยตรีและหลังจากนั้น 6 เดือน ทรงได้รับการเลื่อนยศเป็นนายร้อยโทและยังคงบทบาทในหน่วยทหารอาสารักษาดินแดนต่อไป[25]
อย่างไรก็ดี ใน พ.ศ. 2487 ที่บ้านลีแนมฟาร์ม ที่ได้รับแจ้งจากเจ้าของบ้านว่าจะยกเลิกสัญญาเช่า ในขณะที่พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์เองก็ทรงไม่อยากที่จะออกจากกองพันยุวชนทหารที่ทรงสังกัดอยู่ ลิสบาเองก็ช่วยงานอาสาสงครามอยู่ในหน่วยรถพยาบาลฉุกเฉินของสมาคมการกุศลเซนต์จอห์น ด้วยเหตุนี้ทรงหาที่อยู่ใหม่และตัดสินพระทัยซื้อบ้านและที่ดินแทนการเช่า ทรงเลือก บ้านเทรเดซี ใกล้กับเมืองบอดมิน ซึ่งกลายเป็นบ้านที่ประทับตลอดพระชนม์ชีพ[26]
สิ้นพระชนม์
[แก้]ช่วงท้ายของพระชนมชีพ พระองค์เริ่มประชวรเป็นเนื้องอกที่หลอดอาหารส่วนบนเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2502 และได้รับการรักษาด้วยการฉายแสงที่โรงพยาบาลในกรุงลอนดอน จนพระอาการดีขึ้นตามลำดับ จากผลการตรวจพบว่าพระองค์เป็นมะเร็ง ซึ่งในสมัยนั้นเป็นเรื่องใหญ่ไม่ต่างจากคำพิพากษาประหารชีวิต แม้พระโรคจะกำเริบขึ้นในบางระยะแต่พระองค์ทรงมีกำลังพระทัยที่เข้มแข็ง ทรงพยายามดูแลรักษาพระองค์อย่างดีที่สุดและปฏิบัติตามคำสั่งของแพทย์อย่างเคร่งครัด ทรงน้อมรับความเป็นจริงของชีวิตด้วยสติและเตรียมความพร้อมในทุกเรื่อง โดยไม่ประมาททั้งยังมีการสั่งเรื่องการจัดการพระศพไว้ล่วงหน้าด้วย
สิ่งหนึ่งที่ทรงทำมาตลอดพระชนมชีพ คือการบริจาคทรัพย์เพื่อการกุศล โดยเฉพาะโรงพยาบาลต่าง ๆ แม้ในช่วงสุดท้ายก่อนสิ้นพระชนม์ไม่กี่วัน ยังทรงประทานเงินแก่กระทรวงสาธารณสุขจำนวน 1 ล้านบาท เพื่อจัดตั้งเป็นกองทุนเก็บดอกผลสำหรับใช้จ่ายช่วยเหลือในการค้นคว้าเกี่ยวกับโรคมะเร็งและช่วยเหลือผู้ป่วยยากจน
วันที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2506 ณ พระตำหนักเทรเดซี่ ตั้งแต่บ่าย 2 โมงครึ่งไปแล้วตามเวลาสหราชอาณาจักร ก็ทรงหลับสงบไม่รู้สึกพระองค์แต่ชีพจรยังแรงอยู่ ตลอดเวลาเหล่านี้ท่านไม่ได้แสดงพระอาการเจ็บปวดหรือทรมานอย่างใดเลย จนในที่สุด สิ้นพระชนม์เมื่อเวลา 19.20 น. ตามเวลาสหราชอาณาจักร
วันพุธที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2507 มีการนิมนต์พระสงฆ์ชาวลังกาชื่อ ภิกษุด็อกเตอร์สัทธาทิศา มาสวด มีนายบุญมั่น ปุญญถิโร ข้าราชการประจำสถานทูตไทยในลอนดอนมาช่วยทำพิธีและอาราธนาศีล ผู้มาร่วมพิธีมีเฉพาะคนในครอบครัวและเพื่อนสนิทไม่กี่คน ในวันรุ่งขึ้นจึงเคลื่อนพระศพไปยังสุสาน หีบพระศพคลุมด้วยธงชาติไทย มีธงจักรตะบอง ตราสัญลักษณ์ของราชสกุลจักรพงษ์คลุมทับเฉพาะพระเศียร บนหีบพระศพมีช่อดอกไม้วางอยู่สองช่อ ตามที่ทรงอนุญาตเฉพาะช่อหนึ่งของหม่อมเอลิสเบธเป็นกุหลาบแดง อีกช่อหนึ่งเป็นของหม่อมราชวงศ์นริศรา เป็นช่อดอกทิวลิปและแดฟโฟดิล และบรรทุกพระศพไปยังสุสานเพนเมาต์เครเมเทเรียมที่เมืองทรูโร มีแขกร่วมพิธีทั้งสิ้น 22 คน ในวันที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2507 มีงานบำเพ็ญกุศลทักษิณานุปทานที่บ้านจักรพงษ์ ท่าเตียน ถัดมาวันที่ 20 มกราคม มีพิธีไว้อาลัยที่สถานทูตไทยในกรุงลอนดอน
หลังจากนั้นวันที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2507 มีการอัญเชิญพระอัฐิจากอังกฤษกลับมายังประเทศไทย หม่อมเอลิสะเบธและหม่อมราชวงศ์นริศราได้บำเพ็ญกุศลถวายและเชิญพระอังคารไปบรรจุในพระเจดีย์เสาวภาประดิษฐาน ณ สุสานหลวง วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร[27]
พระกรณียกิจ
[แก้]พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ทรงเป็นผู้แทนพระองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวหลายพระองค์ ในงานพระราชพิธีต่าง ๆ คือ ทรงเป็นผู้แทนพระองค์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ในงานพระบรมศพสมเด็จพระเจ้าอัลแบร์ที่ 1 พระเจ้าแผ่นดินเบลเยี่ยม ในปี พ.ศ. 2477 ทรงเป็นผู้แทนพระองค์พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร ในงานพระบรมศพสมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 5 กับงานพระบรมราชาภิเษก สมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 6 และสมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธ กับถวายตราจักรีบรมราชวงศ์แด่สมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 6 แทนพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 8
ทรงเป็นผู้แทนพระองค์ พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในงานพระบรมราชาภิเษก สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักร พระมหากษัตรีของอังกฤษ นอกจากนั้นในระหว่างเดือนกันยายน - ตุลาคม พ.ศ. 2504 ทรงเป็นสมาชิกคณะผู้แทนไทยในสมัชชาใหญ่สหประชาชาติที่นิวยอร์ก[28]
ทรงได้รับการแต่งตั้งเป็นนายทหารพิเศษประจำกองพันทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ทรงได้รับพระราชทานยศทหารบกเป็น พลตรี เมื่อ พ.ศ. 2502[29]
ชีวิตส่วนพระองค์
[แก้]ครอบครัว
[แก้]พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ ทรงพบ หม่อมเอลิสะเบธ (นามเดิมคือ Elisabeth Hunter) เมื่อครั้งไปเรียนศิลปะการวาดภาพ โดยพระองค์เจ้าพีระ ซึ่งโปรดสตรีร่วมห้องเรียนกับหม่อมเอลิสะเบธ จึงชวนพระองค์นัด เสด็จไปดินเนอร์กัน 4 คน จึงได้พบและหลงรักกัน แต่ขณะนั้นท่านตั้งพระทัยจะไม่รักสตรีต่างชาติ เนื่องจากล้นเกล้ารัชกาลที่ 7 รับสั่งมาทางจดหมายว่า อย่าทำตามที่ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ พระบิดาทรงทำ คือการแต่งงานกับสตรีต่างด้าว จนกระทั่งหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ทรงรู้สึกเป็นอิสระจากภาระหน้าที่ตามพระราชประเพณี จึงตัดสินพระทัยเสกสมรสกับหม่อมเอลิสะเบธ (Elisabeth Hunter) เมื่อวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2481 หลังการเสกสมรสในปีเดียวกันทรงพาหม่อมเอลิสะเบธกลับประเทศไทยพร้อมกับพระองค์เจ้าพีระทรงนำหม่อมซีรีลกลับ โดยเสด็จทางเรือและขึ้นบกที่สิงคโปร์ และต่อรถไฟมายังหัวลำโพง การเสด็จกลับครั้งนี้นับเป็นข่าวใหญ่มาก ประชาชนต่างมารอรับเสด็จกันแน่นขนัด
เมื่อเสกสมรส พระองค์ทรงดำริที่จะไม่มีบุตร ในจดหมายฉบับหนึ่งที่เขียนถึงหม่อมเอลิสะเบธ ได้ตรัสไว้ว่า "ถ้าเผื่อเราแต่งงานกัน อย่ามีลูกกันเลย เพราะเด็กที่เกิดมาหลายเชื้อชาติ จะมีปัญหาตลอด" แต่ถึงกระนั้นหลังเสกสมรสเป็นเวลา 18 ปี หม่อมเอลิสะเบธจึงตั้งครรภ์หม่อมราชวงศ์นริศรา จักรพงษ์ เมื่อหม่อมอายุ 41 ปี[30]
ความสนพระทัย
[แก้]ในระหว่างทรงศึกษาที่ประเทศอังกฤษ โปรดการละคร โดยทรงแสดงประปรีชาสามารถด้านการละครในเวลาต่อมา ทั้งทรงนิพนธ์บทละครจำนวนหนึ่ง และยังทรงเข้าร่วมแสดงละครและนิพนธ์บทละครด้วยตัวพระองค์เอง[31]
พระนิพนธ์
[แก้]พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ ทรงสนพระทัยในงานประพันธ์และประวัติศาสตร์ ทรงนิพนธ์หนังสือไว้ 13 เล่ม โดยเล่มที่สำคัญที่สุดคือ เกิดวังปารุสก์, เจ้าชีวิต, ดาราทอง, ไทยชนะ
- ประวัติศาสตร์ที่แต่งเป็นภาษาอังกฤษ ได้แก่ Lords of Life (และต่อมาทรงแปลเป็นภาษาไทยใช้ชื่อว่า เจ้าชีวิต เรื่องราวของพระราชวงศ์จักรีตั้งแต่ปี พ.ศ. 2325 ของการสร้างกรุงรัตนโกสินทร์จนถึงปี 2475 ซึ่งเป็นปีเปลี่ยนการปกครอง), Wheels at Speed, Road Racing 1936, Road Star Hat Trick, Dick Seaman-Racing Motorist, Brought up in England, Blue and Yellow, The Education of the Enlightened Despots, The Twain Have Met, First-Class Ticket
- ประวัติศาสตร์ไทย ได้แก่ อาณาจักรสุโขทัย, ไตรภูมิพระร่วง, เจ้าชีวิต
- สาขาประวัติศาสตร์ต่างประเทศ ได้แก่ เฟรเดริค มหาราชแห่งปรัสเซีย, คองเกรสแห่งเวียนนา, คัทรินมหาราชินี, คาวัวร์และกำเนิดอิตาลีอิสระ, ฮันนิบาล, เนลสัน
- สาขาอัตชีวประวัติ ได้แก่ เกิดวังปารุสก์ ซึ่งเป็นผลงานที่โดดเด่นมากที่สุด นิพนธ์ไว้ทั้งหมด 3 เล่ม
- สาขาบทละคร ได้แก่ สุดหนทาง, ตรวจราชการ
- สารคดีปกิณกะ ได้แก่ ชุมนุมจุลจักรสาร, ต้นรัชกาลเอลิซาเบธที่ 2
- นวนิยาย ได้แก่ สามสาว, ดัดสันดานอิเหนา และ สาวสวย-หญิงงาม
- เรื่องแปล ได้แก่ วาระสุดท้ายของฮิตเลอร์
- แข่งรถ ได้แก่ ดาราทอง ,ไทยชนะ
พระเกียรติยศ
[แก้]เครื่องราชอิสริยาภรณ์ไทย
[แก้]- พ.ศ. 2477 – เครื่องขัตติยราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติคุณรุ่งเรืองยิ่งมหาจักรีบรมราชวงศ์ (ม.จ.ก.) (ฝ่ายหน้า)[32]
- พ.ศ. 2505 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ชั้นที่ 1 ปฐมจุลจอมเกล้า (ป.จ.) (ฝ่ายหน้า)[33]
- พ.ศ. 2507 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้นสูงสุด มหาวชิรมงกุฎ (ม.ว.ม.)[34]
- พ.ศ. 2501 – เหรียญจักรมาลา (ร.จ.ม.)
- พ.ศ. 2456 – เหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ 6 ชั้นที่ 3 (ว.ป.ร.3)
- พ.ศ. 2474 – เหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ 7 ชั้นที่ 1 (ป.ป.ร.1)[35]
- พ.ศ. 2481 – เหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ 8 ชั้นที่ 1 (อ.ป.ร.1)[36]
- พ.ศ. 2496 – เหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ 9 ชั้นที่ 1 (ภ.ป.ร.1)[37]
- พ.ศ. 2454 – เหรียญราชรุจิทอง รัชกาลที่ 6 (ร.จ.ท.6)[38]
- พ.ศ. 2440 – เหรียญราชินี (ส.ผ.)
- พ.ศ. 2468 – เหรียญบรมราชาภิเษก รัชกาลที่ 7 (ร.ร.ศ.7)
- พ.ศ. 2493 – เหรียญบรมราชาภิเษก รัชกาลที่ 9 (ร.ร.ศ.9)
เครื่องราชอิสริยาภรณ์ต่างประเทศ
[แก้]- บริเตนใหญ่ :
- พ.ศ. 2481 - เครื่องราชอิสริยาภรณ์รอยัลวิกตอเรียน ชั้นสูงสุด[39]
- พ.ศ. 2503 - เครื่องราชอิสริยาภรณ์ของนักบุญยอห์นแห่งเยรูซาเล็ม[40]
- เชโกสโลวาเกีย :
- พ.ศ. 2481 - เครื่องราชอิสริยาภรณ์ราชสีห์ขาว ชั้นที่ 1[41]
พระยศ
[แก้]พระยศทางทหาร
[แก้]- 31 ตุลาคม พ.ศ. 2474: นายร้อยตรี[42]
- 16 มกราคม พ.ศ. 2478: นายร้อยเอก[43]
- 8 ธันวาคม พ.ศ. 2480: นายพันตรี[44]
- 9 ตุลาคม พ.ศ. 2491: พันโท[45]
- 1 กันยายน พ.ศ. 2496: พันเอก[46]
- 26 สิงหาคม พ.ศ. 2502: พลตรี[47]
อนุสรณ์และการรำลึกถึง
[แก้]เนื่องในปีครบรอบ 100 ปี การประสูติของพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ หม่อมราชวงศ์นริศรา จักรพงษ์ พระธิดา ร่วมกับลูกชาย จุลจักร จักรพงษ์ และภูวสวัสดิ์ จักรพงษ์ จัดนิทรรศการ “100 ปี จุลจักรพงษ์” เปิดบ้านจักรพงษ์ให้ประชาชนทั่วไปได้เข้าไปเยี่ยมชมเป็นครั้งแรก ทั้งนี้ยังจัดทำหนังสือที่ระลึกและดีวีดีภาพยนตร์เรื่อง “ภาพแห่งชีวิต จุลจักรพงษ์” ที่เป็นการรวมรวมข้อมูลพระองค์จุลฯ รวมภาพข่าว ภาพวาดโบราณต่าง ๆ ความยาวจำนวน 120 หน้า ประกอบด้วย 10 บท และในวันงานยังมีการฉายภาพยนตร์เก่า “ภาพแห่งชีวิต จุลจักรพงษ์” ที่นำฟิล์มต้นฉบับภาพยนตร์เก่าที่ถ่ายทำโดยพระองค์จุลฯ[48]
สำหรับอาคารที่ตั้งตามพระนาม เช่น ตึกจุลจักรพงษ์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ใช้เป็น สถานที่พยาบาลคนไข้ภายนอก[49] สร้างเมื่อปี พ.ศ. 2524[50] และตึกจุลจักรพงษ์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตึกหลังศาลาพระเกี้ยว
พงศาวลี
[แก้]พงศาวลีของพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ | ||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||
---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|
|
อ้างอิง
[แก้]- ↑ "HRH Prince Chula CHAKRABONGSE". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-03-06. สืบค้นเมื่อ 2006-10-11.
- ↑ 100 ปี จุลจักรพงษ์ 1908-2008, หน้า 29
- ↑ ปรีดี พนมยงค์ กับสถาบันกษัตริย์และกรณีสวรรคต สุพจน์ ด่านตระกูล
- ↑ เกิดวังปารุสก์, หน้า 35
- ↑ "พระราชประวัติเจ้าฟ้าฯ". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-09-28. สืบค้นเมื่อ 2007-09-08.
- ↑ แคทยาและเจ้าฟ้าสยาม, หน้า 95
- ↑ 100 ปี จุลจักรพงษ์ 1908-2008, หน้า 30
- ↑ 100 ปี จุลจักรพงษ์ 1908-2008, หน้า 40
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, พระบรมราชโองการ ประกาศ ยกหม่อมเจ้าเป็นพระองค์เจ้า เจ้าฟ้ากรมหลวงพิศณุโลกประชานารถ ขึ้นเป็นพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงศ์, เล่ม 37, ตอน 0 ก, 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2463, หน้า 152
- ↑ 100 ปี จุลจักรพงษ์ 1908-2008, หน้า 42
- ↑ "พ.ท.พระสารสาสน์พลขันธ์ (ลอง สุนทานนท์) นักเศรษฐศาสตร์ที่กล้าคิดกล้าเขียน". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-09-28. สืบค้นเมื่อ 2007-08-24.
- ↑ 100 ปี จุลจักรพงษ์ 1908-2008, หน้า 44
- ↑ 100 ปี จุลจักรพงษ์ 1908-2008, หน้า 47
- ↑ 100 ปี จุลจักรพงษ์ 1908-2008, หน้า 55
- ↑ 100 ปี จุลจักรพงษ์ 1908-2008, หน้า 57
- ↑ 100 ปี จุลจักรพงษ์ 1908-2008, หน้า 63
- ↑ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์. เกิดวังปารุสก์. กรุงเทพ : สำนักพิมพ์ River Books, [ม.ป.ป.]. ISBN 974-8225-22-4
- ↑ เกิดวังปารุสก์, หน้า 215
- ↑ 100 ปี จุลจักรพงษ์ 1908-2008, หน้า 70
- ↑ 100 ปี จุลจักรพงษ์ 1908-2008, หน้า 77
- ↑ 100 ปี จุลจักรพงษ์ 1908-2008, หน้า 79
- ↑ 100 ปี จุลจักรพงษ์ 1908-2008, หน้า 74
- ↑ แคทยาและเจ้าฟ้าสยาม, หน้า 245
- ↑ แคทยาและเจ้าฟ้าสยาม, หน้า 248
- ↑ แคทยาและเจ้าฟ้าสยาม, หน้า 249
- ↑ แคทยาและเจ้าฟ้าสยาม, หน้า 250
- ↑ 100 ปี จุลจักรพงษ์ 1908-2008, หน้า 19
- ↑ 100 ปี จุลจักรพงษ์ 1908-2008, หน้า 17
- ↑ "ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานยศทหาร" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2018-08-10. สืบค้นเมื่อ 2018-08-10.
- ↑ นิตยสารเฮลโล ฉบับที่ 8 วันที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2551 หน้า 64-78
- ↑ 100 ปี จุลจักรพงษ์ 1908-2008, หน้า 64
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความ เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เก็บถาวร 2016-03-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๕๑, ตอน ๐ ง, ๑๖ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๗, หน้า ๓๗๐๓
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์, เล่ม ๗๙, ตอน ๔๖ ง, ๑๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๐๕, หน้า ๑๒๔๙
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์, เล่ม ๘๑, ตอน ๙ ง, ๒๘ มกราคม พ.ศ. ๒๕๐๗, หน้า ๒๓๔
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เก็บถาวร 2019-05-07 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๔๘, ตอน ๐ ง, ๑๕ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๔, หน้า ๓๐๘๔
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์ เก็บถาวร 2014-11-11 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๕๕, ตอน ๐ ง, ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๑, หน้า ๓๐๒๐
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์, เล่ม ๗๐, ตอน ๑๗ ง, ๑๐ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๙๖, หน้า ๑๐๑๐
- ↑ พระราชทานเหรียญราชรุจิ (หน้า ๒๗๒๕)
- ↑ "PRINCE OF SIAM VISITS KING, Invested With Order". Central Queensland Herald.
- ↑ "London Gazette". Thegazette.co.uk.
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา วันที่ 30 พฤษภาคม 2481 แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง ให้ประดับตราต่างประเทศ http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2481/D/542.PDF
- ↑ พระราชทานยศทหารบก
- ↑ ประกาศ เรื่อง พระราชทานยศทหาร
- ↑ ประกาศกระทรวงกลาโหม ประกาศพระราชทานยศทหาร
- ↑ ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานยศทหาร
- ↑ ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานยศทหาร
- ↑ ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานยศทหาร
- ↑ ระลึก 100 ปี ‘จุลจักรพงษ์’ เก็บถาวร 2009-02-22 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน posttoday.com
- ↑ ในหลวงกับกาชาด ด้านอาคารสถานที่[ลิงก์เสีย]
- ↑ หน่วยรังสีวินิจฉัย เก็บถาวร 2008-06-25 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน md.chula.ac.th
บรรณานุกรม
[แก้]- อรสม สุทธิสาครและสุธาทิพย์ โมราลาย, 100 ปี จุลจักรพงษ์ 1908-2008.--กรุงเทพฯ : บริษัท สำนักพิมพ์ริเวอร์ บุ๊คส์ จำกัด, (ISBN 978-974-9863-63-3)
- หม่อมราชวงศ์นริศรา จักรพงษ์และไอลีน ฮันเตอร์, แคทยาและเจ้าฟ้าสยาม.--กรุงเทพฯ : บริษัท สำนักพิมพ์ริเวอร์ บุ๊คส์ จำกัด, 2551 (ISBN 978-974-9863-72-5)
- พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์, เกิดวังปารุสก์ ฉบับ 100 ปีจุลจักรพงษ์. --กรุงเทพฯ : บริษัท สำนักพิมพ์ริเวอร์ บุ๊คส์ จำกัด, 2552 (ISBN 978-974-9863-71-8)
ดูเพิ่ม
[แก้]แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- บทความคัดสรร
- บุคคลที่เกิดในปี พ.ศ. 2451
- บุคคลที่เสียชีวิตในปี พ.ศ. 2506
- พระเจ้าวรวงศ์เธอ
- พระองค์เจ้าตั้ง
- ราชสกุลจักรพงษ์
- ชาวไทยเชื้อสายรัสเซีย
- ชาวไทยเชื้อสายยูเครน
- บุคคลจากโรงเรียนราชินี
- ทหารบกชาวไทย
- ผู้ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ม.จ.ก. (ฝ่ายหน้า)
- ผู้ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ป.จ. (ฝ่ายหน้า)
- ผู้ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ม.ป.ช.
- ผู้ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ม.ว.ม.
- ผู้ได้รับเหรียญจักรมาลา
- ผู้ได้รับเหรียญรัตนาภรณ์ ว.ป.ร.1
- ผู้ได้รับเหรียญรัตนาภรณ์ ป.ป.ร.1
- ผู้ได้รับเหรียญรัตนาภรณ์ อ.ป.ร.1
- ผู้ได้รับเหรียญรัตนาภรณ์ ภ.ป.ร.1
- บุคคลจากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์
- ผู้เขียนอัตชีวประวัติชาวไทย
- สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ
- ชาวไทยที่เสียชีวิตในประเทศอังกฤษ
- บุคคลจากเขตดุสิต
- บุคคลในประวัติศาสตร์กรุงรัตนโกสินทร์